ในแต่ละวันของนักดื่มกาแฟ หรือเรา ๆ ท่าน ๆ เรียกว่า “คอกาแฟ”  เริ่มจากพฤติกรรมเมื่อยามตื่นมักต้องดื่มกาแฟก่อนออกไปทำงานอย่างน้อย 1 แก้ว  ไม่เพียงเท่านั้นหลังทานอาหารเที่ยงถึงตอนบ่าย แวะประชุม ตกเย็นก็ปิดท้ายด้วยกาแฟอีกเช่นเดิม  พฤติกรรมเหล่านี้มีทั้งผลดีและผลเสีย แต่สำหรับใครที่มีกาแฟเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ลองมาดูคำตอบว่า การดื่มกาแฟที่ถูกต้อง นั้น ควรทำอย่างไร?

 

จะเลือกดื่มกาแฟเวลาไหนแล้วดี ?  ดื่มช่วงเวลา 09.30-11.30 น. คือเวลาเหมาะสมที่สุด เพราะคาเฟอีนจะออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก  เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนชื่อว่า คอร์ติซอล ที่ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว และจะเกิดมากขึ้นเมื่อมีความเครียด โดยช่วงเวลาที่ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้มากๆ คือ 08.00-09.00 น. 12.00-13.00 น. และ 17.30-18.30 น. การดื่มกาแฟใน 3 ช่วงเวลานี้จึงไม่มีประโยชน์ เพราะฤทธิ์ของกาแฟจะไปทำงานซ้ำซ้อนกับฮอร์โมนคอร์ติซอลนั่นเอง

 

ดื่มกาแฟทุกวันดีไหม ? ยังไม่มีการยืนยันว่าดื่มกาแฟทุกวันนั้นไม่ดี  เพียงแต่กำหนดปริมาณของกาแฟที่ดื่มในแต่ละวันว่าไม่ควรเกิน 300 มิลลิกรัม อาทิ กาแฟสด 2  แก้วต่อวันหรือกาแฟสำเร็จรูปประมาณ 3 แก้วต่อวัน จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย  แต่ถ้าเกินกำหนดในทุกวัน อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติขึ้นได้ เช่น ตื่นเต้น ตกใจง่าย มือสั่น ใจสั่น ฯลฯ  เพราะสารคาเฟอีนมีผลกระทบต่อคนในปริมาณที่ต่างกัน

 

กาแฟร้อน หรือ กาแฟเย็น แบบไหนจะดีกว่ากัน?   ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กาแฟดำเป็นกาแฟที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด ในทางกลับกันคนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยชอบรสชาติของกาแฟดำ จะนิยมปรับเพิ่มรสชาติให้กลมกล่อมมากขึ้นด้วยการเติมนมข้นหวาน น้ำตาล หรือครีมเทียม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นของที่ก่อให้เกิดอันตรายและโรคเรื้อรังได้  เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคอ้วน ฯลฯ โดยมักจะอยู่ในรูปของกาแฟเย็นมากกว่ากาแฟร้อน แถมบางสูตรยังใส่วิปครีมเพิ่มอีกด้วย  ดังนั้นควรดื่มกาแฟเย็นให้น้อยลง และดื่มกาแฟร้อนให้มากขึ้นเพราะจะช่วยลดปริมาณของน้ำตาลและไขมันที่อาจสะสมในร่างกายได้

 

ข้อแนะนำในการดื่มกาแฟไม่ให้เสียสุขภาพ

– ไม่ควรดื่มกาแฟตอนท้องว่าง เพราะสารกาเฟอีนจะไปเร่งให้มีการสร้างกรดออกมามากจนทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้  ควรดื่มกาแฟพร้อมขนมปังหรือเค้ก

– หลังดื่มกาแฟแล้วควรดื่มน้ำเปล่าตามไปด้วย เพราะสารคาเฟอีนมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ

– คนที่ดื่มกาแฟจะมีภาวะเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน  เนื่องจากคาเฟอีนจะดึงแคลเซียมออกจากร่างกายทางปัสสาวะ จึงควรกินอาหารเสริมแคลเซียมจากแหล่งอื่นร่วมด้วย เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว ฯลฯ

– ไม่ควรดื่มกาแฟก่อนนอน เพราะจะทำให้นอนหลับยาก ยังส่งผลให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนด้วย

– อย่าปล่อยให้กาแฟมีอิทธิพลในการช่วยกระตุ้นให้เราตื่น และทำงานได้มากขึ้น เพราะในระยะยาว  อาจทำให้ร่างกายยิ่งอ่อนแอจนต้องเพิ่มปริมาณของกาแฟขึ้นเรื่อยๆ

– หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตรไม่ควรดื่มกาแฟ เพราะคาเฟอีนจะมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ รวมถึงน้ำนมที่ได้จากแม่สู่ลูก

– เด็กๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปีไม่ควรดื่มกาแฟ เพราะคาเฟอีนจะช่วยหยุดการเจริญเติบโตของโกรทฮอร์โมน

– ผู้สูงอายุ ผู้เป็นโรคหัวใจ และผู้ที่มีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ

– ถ้าแต่ละวันดื่มกาแฟในปริมาณมากแล้ว ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มประเภทอื่นที่มีสารกาเฟอีนอีก เพราะจะไปเพิ่มกาเฟอีนในร่างกายให้มีมากเกินไป

เราควรใส่ใจกับวิธีการดื่มกาแฟที่ถูกต้อง  เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดื่มกาแฟจะไม่ทำลายสุขภาพของเรา บรรดาคอกาแฟทั้งหลายอาจจะรู้สึกดีขึ้น หากคุณเลือกปฏิบัติต่อการดื่มกาแฟอย่างถูกวิธี

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : sukkaphap-d

Share :